พณ. เดินหน้ากวาดล้างของเถื่อนพื้นที่สีแดง สั่งเข้มขายของปลอมบนเน็ต

“พาณิชย์” เผย รัฐเดินหน้ากวาดล้างของเถื่อนในพื้นที่สีแดงต่อเนื่อง ตั้งเป้าลดพื้นที่สีแดง และลดปริมาณการขายของเถื่อน หรือทำให้หมดไป พร้อมคุมเข้มโพสต์ขายของปลอมบนเน็ต ส่วนม.44 ลดสิทธิบัตรคั่งค้าง คสช.อยู่ระหว่างพิจารณา ลั่นไม่ต้องห่วงยาแพง อย.เจรจาต่อรองได้อยู่แล้ว

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึงการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาว่า ในปีนี้คณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน จะเดินหน้าป้องกัน และปราบปรามการละเมิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงกว่า 10 แห่งทั่วประเทศ ที่ขายสินค้าละเมิดจำนวนมาก เช่น บ้านหม้อ, คลองถม, ถนนสุขุมวิท, ถนนสีลม, ตลาดนัดสวนจตุจักร, ไนท์บาซาร์ จ.เชียงใหม่, หาดป่าตอง หาดกะตะ หาดกะรน จ.ภูเก็ต เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายต้องลดพื้นที่สีแดงให้น้อยลง และลดปริมาณสินค้าละเมิดที่วางขาย หรือทำให้หมดไป ซึ่งที่ผ่านมา การขายสินค้าละเมิดที่ห้างมาบุญครอง และตลาดโรงเกลือ ลดลงมากถึง 80%
นอกจากนี้ ยังเข้มงวดป้องกัน และปราบปรามการละเมิดบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพราะปัจจุบัน รูปแบบการขายสินค้าละเมิดเปลี่ยนจากการวางขายบนแผงค้า ที่เห็นได้ชัดเจน มาเป็นการโพสต์ขายในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือเว็บไซต์ต่างๆ มากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอความร่วมมือไปยังบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการสุ่มตรวจพัสดุภัณฑ์จากการซื้อขายสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตรวจสอบกล่องสัญญาณเคเบิล และกล่องดาวเทียม ที่มักพบละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และเพลงจากต่างประเทศ โดยหากพบผู้กระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมาย และส่งต่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษี และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการยึดทรัพย์

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อถึงการขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อแก้ปัญหาสิทธิบัตรคงค้าง ที่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กว่า 36,000 คำขอ ว่า ขณะนี้ คสช.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดต่างๆ เพื่อป้องกันและเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับสิทธิบัตรยา ที่เอ็นจีโอเป็นห่วงว่า หากมีการจดสิทธิบัตรยาได้เร็ว จะทำให้เจ้าของสิทธิบัตรขายยาในไทยในราคาแพงขึ้นได้ แต่ตนมองว่า ราคายาที่เจ้าของสิทธิบัตรจะกำหนดราคาขายในไทย ไม่ใช่มาจากการอนุมัติคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรเท่านั้น แต่มาจากเรื่องของต้นทุนด้วย

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า การขอใช้มาตรา 44 จุดประสงค์หลักเพื่อลดคำขอสิทธิบัตรที่ยังคั่งค้างอยู่จำนวนมาก ส่วนในประเด็นที่เอ็นจีโอกลัวว่า หากกรมฯ อนุมัติคำขอสิทธิบัตรยาแล้ว จะทำให้เจ้าของสิทธิบัตรยาใหม่ตั้งราคายาที่จะขายในไทยสูงมากนั้น ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า สามารถต่อรองราคากับผู้ค้าได้อยู่แล้ว ซึ่งจะไม่ทำให้ผู้ใช้ยาได้รับผลกระทบแน่นอน.

 

Share now :

Facebook
Twitter
LinkedIn

© สงวนลิขสิทธิ์ 2011-2024

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า