และนี่ก็คือเรื่องหนึ่งของสินค้าปลอมซึ่งกำลังระบาดหนักจนกลายเป็นธุรกิจที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดและทำกำไรได้ดีที่สุดในโลก สินค้าต่างๆที่พบว่าเป็นของปลอมนั้นมีตั้งแต่ประเภทสารเคมี คอมพิวเตอร์ ยา ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เครื่องมือแพทย์ อาหารไปจนกระทั่งอะไหล่เครื่องบินและอะไหล่รถยนต์
ทั้งนี้ทั้งนั้น สินค้าที่นิยมปลอมกันมากก็คือสินค้าที่ผู้ซื้อนิยมและมีราคาแพง เช่นกระเป๋าถือผู้หญิงยี่ห้อ กุชชี่ (Gucci) กระเป๋าเสื้อผ้า หลุยส์วิตอง (Louis Vuitton) นาฬิกาคาร์เทียร์ (Cartier) และ ตุ๊กตาหนูน้อยในไร่กะหล่ำ (Cabbage Patchdoll)
นักผลิตสินค้าปลอมในปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่ามีเกือบทุกระดับสินค้า ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการปลอมสินค้า เกิดจากการที่สินค้านั้นๆได้รับความนิยมจากทั่วโลก ต้องมีการขยายโรงงานผลิตไปในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีวัตถุดิบอุดมสมบูรณ์ ค่าแรงงานถูก บริษัทต่างๆของสหรัฐมักจะมีโรงงานผลิตอยู่นอกประเทศมากกว่าในประเทศ ดังนั้นการปลอมแปลงสินค้าโดยการเลียนแบบจึงแพร่หลายยิ่งขึ้นเพราะประเทศที่กำลังพัฒนาได้รับเทคโนโลยีในการผลิตจากบริษัทซึ่งมาจ้าง
แต่ก็ใช่ว่าสินค้าปลอมจะมากจากต่างประเทศทั้งหมด ผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินไว้ว่าประมาณ 20% ของสินค้าปลอมทั่วโลกผลิตในสหรัฐ โดยฝีมือบริษัทซึ่งไม่มีความสามารถจะหากำไรจากการทำมาหากินที่ถูกกฎหมายได้
ในวงการธุรกิจสินค้าปลอมก็มีการแบ่งเกรดของสินค้ากันเหมือนสินค้าที่ถูกกฎหมายทั่วๆไป ที่เกรดสูงสุดคือสินค้าที่ปลอมเต็มตัว ใช้ยี่ห้อเดียวกับของจริงและเลียนแบบของจริงเปี๊ยบเลย คนที่มองผิวเผินจะดูไม่ออก เกรดรองลงมาคือ สินค้าปลอมที่ดูเหมือนของจริงแต่พะยี่ห้อต่างกัน ถัดมาอันดับเกือบบ๊วย คือสินค้าที่ปลอมโดยใช้แบบใกล้เคียงกับของจริงแต่พะยี่ห้อต่างกัน ส่วนอันดับโหล่คือสินค้าเลียนแบบซึ่งราคาถูกและถือว่าไม่เป็นการหลอกลวงใคร
ทุกวันนี้ของปลอมขยายธุรกิจไปอย่างกว้างขวางเหมือนโรคระบาด เจมส์ แอล. บิค็อฟฟ์ (James L. Bikoff) ประธานกลุ่มต่อต้านสินค้าปลอมระหว่างประเทศหรือ IACC (International Anticounterfeiting Coalition) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“สมัยนี้แทบจะไม่มีสินค้าดังๆยี่ห้อไหนที่รอดพ้นจากการเลียนแบบหรือการปลอมไปได้”
ทุกวันนี้ไม่มีใครมีตัวเลขที่แน่นอนว่าตลาดของสินค้าปลอมกว้างขวางแค่ไหน หรือทำความเสียหายให้ธุรกิจปีละมากน้อยแค่ไหน Eugene C. Goodale แห่งบริษัทแทรคเตอร์ยี่ห้อแคทเทอร์ พิลล่าร์ (Caterpillar Tractor Co.) กล่าวว่า “เมื่อไหร่ที่ได้ยินเรื่องสินค้าปลอม จงทำใจเถอะว่า ยังมีอีกไม่รู้กี่รายซึ่งเราไม่ได้รู้ไม่เห็น”
สำนักงานตรวจสอบสินค้าปลอม (Counterfeit Intelligence Bureau) แห่งลอนดอน ประเมินว่า ตลาดสินค้าปลอมในโลกมีมูลค่าถึงปีละ 60 พันล้านเหรียญ (1,620,000,000,000 บาท) แต่ก็เป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน
ปัญหาสินค้าปลอมทำความเสียหายให้แก่วงธุรกิจจนยากที่จะประเมินออกมาเป็นราคาได้ สินค้าปลอมบ่อนทำลายธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายและทำให้ผู้ซื้อเกิดความลังเลใจและยุ่งยากใจว่าของที่กำลังจะซื้อนั้นเป็นของจริงหรือของปลอม
แม้ว่าสินค้าปลอมจะระบาดไปทั่วโลก แต่บรรดานักธุรกิจทั้งหลายไม่อยากจะยอมรับ แต่กลับพยายามที่จะเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ ไม่ค่อยมีใครอยากรับว่าสินค้าของตนถูกทำปลอมขึ้น เพราะเกรงว่าลูกค้าจะเกิดความไม่เชื่อว่าสินค้าชิ้นไหนเป็นของแท้ ชิ้นไหนเป็นของเทียม แล้วก็เลยพาลไม่อยากซื้อเอาดื้อๆ หรือไม่ก็เปลี่ยนใจไปซื้อสินค้ายี่ห้ออื่นแทน
ปัจจุบันกลุ่มต่อต้านสินค้าปลอมซึ่งเดิมมีเพียง 15 บริษัทในปี 1978 เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วคือมีถึง 300 บริษัท แสดงว่ากลุ่มผู้ผลิตต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าปลอมได้รวมตัวกันเพื่อหาทางตอบโต้
อะไรปลอมก็ยังไม่น่าห่วงมากเท่ากับปัญหาชิ้นส่วนอะไหล่ของเครื่องบินปลอม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป
ดูๆแล้วไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์เราจะมีความเห็นแก่ได้อย่างรุนแรงร้ายกาจและโหดเหี้ยมถึงกับกล้าแสวงหาประโยชน์ในเรื่องคอขาดบาดตายเช่นนี้ แต่ก็มีและเป็นเรื่องเป็นราวกันขึ้นมาแล้วตั้งแต่ปี 1977 มีรายงานว่าคณะกรรมการการบินพลเรือนสหรัฐ (Federal Aviation Administration) ได้เรียกคืนเครื่องตรวจสอบและควบคุมระบบไฟไหม้ซึ่งเป็นของปลอมที่ติดตั้งในเครื่องบินโบอิ้ง 737 และ 747 จำนวน 30 ลำ ต่อมาในปี 1983 กระทรวงกลาโหมของสหรัฐได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้รับเหมาในข้อหาจัดซื้อชิ้นส่วนปลอมของบริษัทโบอิ้ง ปรากฎว่าศาลตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี
ชิ้นส่วนของเครื่องบินที่มีการทำปลอมขึ้นนั้น มีแทบทุกส่วน นับตั้งแต่สกรู เครื่องยนต์ ล้อ เบรค และปีกข้อเท็จจริงนี้ทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินอกสั่นขวัญแขวนไปตามๆกัน เช่นเดียวกับบรรดาผู้ที่มีความจำเป็นต้องบินไปโน่นมานี่บ่อยๆ เพราะอดหวาดเสียวไม่ได้ว่าเครื่องบินของสายการบินที่โดยสารไปแต่ละเที่ยวบินนั้น ลำไหนบ้างก็ไม่รู้ที่ใช้อะไหล่ปลอม
เรื่องการใช้อะไหล่ปลอมในเครื่องบินที่เกรียวกราวพอควรอีกรายหนึ่งคือเรื่องที่เกี่ยวกับชะตากรรมของบริษัทเบลล์ เฮลิค็อปเตอร์ เท็กซตรอน (Bell Helicopter Textron) ซึ่งต้องสูญเสียเกียรติคุณของบริษัทและเงินจำนวนมากมหาศาลเนื่องจากถูกปรับเนื่องจากคณะกรรมการตรวจรับของ ตรวจพบว่าเครื่องบินเฮลิค็อปเตอร์จำนวน 600 ลำที่บริษัทฯขายให้กับองค์การนาโต้ (NATO) และองค์การเอกชนต่างๆในสหรัฐมีส่วนประกอบบางส่วน เช่น ระบบเกียร์ ใช้สินค้าปลอม ไม่ใช่อะไหล่แท้ แต่เป็นของที่ทำปลอมขึ้น
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเครื่องเฮลิค็อปเตอร์ของกองทัพอากาศประเทศเปรู ซึ่งตกเมื่อปลายเดือนตุลคมคม 1985 นั้นเป็นผลมาจากการชำรุดของระบบใบพัดส่วนหาง
สินค้าปลอมที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์อีกอย่างหนึ่งคือสินค้าจำพวกยาและเครื่องมือทางการแพทย์
สมาคมแพทย์อเมริกัน (American Medical Assn.) รายงานว่ามีคนตายและเป็นอัมพาตเนื่องจากการใช้ยาปลอมประเภท amphetamines และ Tranquilizers
เมื่อสิ้นปี 1984 บริษัท G.D. Searle & Co. ได้เรียกคืนยาเม็ดคุมกำเนิดปลอมจำนวนกว่า 1 ล้านเม็ดที่มีการนำออกจำหน่ายโดยบริษัทไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ในยาปลอมที่นำออกขายนั้นมีปริมาณเอสโตรเจนน้อยกว่าปกติทำให้การคุมกำเนิดไม่ได้ผล บริษัทก็คงจะไม่รู้เรื่องหรอก ถ้าไม่มีผู้ใช้รายหนึ่งโวยวายขึ้นมาโดยการร้องเรียนต่อสูติ-นรีแพทย์ประจำตัวของเธอว่า หลังจากใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดยี่ห้อนี้แล้ว เธอมีอาการตกเลือด
เมื่อ 2 ปี คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐได้เรียกคืนเครื่องมือช่วยปั๊มหัวใจที่ใช้ระหว่างการผ่าตัดหัวใจจำนวน 350 เครื่อง เนื่องจากมีการตรวจสอบพบว่า ส่วนประกอบชิ้นหนึ่งมีคุณภาพต่ำมาก มีราคาเพียง 8 เหรียญในขณะที่เครื่องปั๊มหัวใจนั้นราคา 20,000 เหรียญ
เป็นที่น่าสลดใจที่สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนานั้น กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆเกี่ยวกับสินค้าปลอมยังหละหลวมอยู่มาก จึงเป็นตลาดที่ดีของบรรดาสินค้าปลอมที่มีคุณภาพต่ำทั้งหลาย อย่างเช่น เมื่อ 6 ปีก่อน เกษตรกรในประเทศแซร์ (Zaire) และประเทศเคนย่า (Kenya) ทางอัฟริกาต้องประสบความสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากมายมหาศาลจากการที่หลงใช้ยาฆ่าแมลงปลอมของบริษัทเชฟรอน (Chevron Corp.) ซึ่งพวกเขาเชื่อถือในคุณภาพ
สินค้าของสหรัฐเป็นเป้าหมายในการลอกเลียนแบบของสินค้าปลอมในประเทศที่กำลังพัฒนาและได้กลายเป็นประตูที่จะเปิดไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามใหม่ๆ การทำสินค้าปลอมเป็นบันไดขั้นแรกที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ปัจจุบันไต้หวันกำลังเดินรอยตามญี่ปุ่นและดูเหมือนว่า ไต้หวันจะเป็นผู้นำหรือศูนย์กลางของสินค้าปลอมในแถบเอเชีย ในขณะที่เกาหลีใต้และไทยกำลังไล่ตามมาติดๆสำหรับในยุโรป อิตาลีเป็นอันดับหนึ่งในการเลียนแบบสินค้าส่วนในลาติน อเมริกานั้น เม็กซิโกและบราซิลเป็นผู้นำตามด้วยอาร์เยนติน่า
เหตุที่ธุรกิจปลอมสินค้าขายมีการตื่นตัวกันอย่างกว้างขวางนั้น เพราะสินค้าปลอมตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อซึ่งมี “รสนิยมสูง แต่รายได้ต่ำ” นักช็อปปิ้งในนิวยอร์คที่เดินทางไปโตเกียวมีความภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของสินค้าปลอมยี่ห้อต่างๆเช่น ดันฮิลล์ คาร์เทีย โรเล็กซ์ เหตุที่พอใจเพราะมันราคาต่ำกว่าของจริงมาก
ปัจจุบันวงการสินค้าปลอมขยายตัวขึ้นใหญ่โตจนอาจทำให้เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของอเมริกาในอนาคต เมื่อ “ของแท้” เริ่มขายไม่ออกหรือมียอดขายลดลง ความภาคภูมิใจของอเมริกาที่เคยมีในฐานะที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆก็เริ่มถดถอยลง
ที่น่าทึ่งก็คือ สินค้าที่ทำเลียนแบบนั้น มักจะผลิตได้รวดเร็วมากคือทันทีที่สินค้าวางตลาด หรือมีการจดสิทธิบัตรหรือมีการนำออกแสดงเท่านั้นแหละ สินค้าปลอมก็จะออกตามหลังมาติดๆอย่างเช่น เมื่อบริษัท American Telephone & Telegraph Co. (AT&T) นำเอาโทรศัพท์รุ่นใหม่ออกแสดงที่ลอสแองเจลีสในปี 1983 ก่อนที่สินค้ารุ่นใหม่นี้จะวางตลาด ปรากฎว่ามีบริษัทไต้หวันบริษัทหนึ่งซึ่งมาเห็นสินค้าของบริษัทอเมริกันในงานแสดง แล้วกลับไปทำสินค้าแบบเดียวกันนี้ออกมาตีตลาดจึงต้องมีการคัดค้านและการเจรจากันตามสมควร บริษัทไต้หวันจึงยอมให้เลิกผลิตสินค้าดังกล่าว
สมัยนี้มีปัจจัยที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่การทำสินค้าปลอมหรือเลียนแบบมากขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือก็ราคาถูกลง ในขณะที่บริษัทที่เป็นต้นแบบต้องเสียเงินสร้างโรงงานและซื้อเครื่องมือ รวมทั้งจ้างคนงานเป็นร้อยๆ แต่ผู้ที่คอยจ้องผลิตสินค้าปลอมไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากนักเลยก็ผลิตสินค้าปลอมต้นทุนต่ำออกมาขายแข่งได้เป็นร้อยๆชิ้น โดยเฉพาะถ้าเป็นสินค้าประเภทอะไหล่
รถยนต์ อะไหล่ปลอมยิ่งซื้อง่ายขายคล่องใหญ่ เพราะอู่ซ่อมรถซื้ออะไหล่ราคาถูก แต่ไปชาร์ทราคาปกติจากเจ้าของรถที่มาซ่อมได้และเมื่ออะไหล่นั้นไม่มีคุณภาพเพียงพอ เจ้าของรถก็มักจะก่นด่าโรงงานผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมาย บริษัทที่ทำสินค้าปลอมจึงมีสภาพที่รับแต่ทรัพย์ลูกเดียว
นอกจากนี้สินค้าปลอมยังมีผลต่อระบบการจ้างงานเป็นอันมาก จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ มีรายงานว่า คนงานจำนวน 750,000 คนตกงานเนื่องจากการที่สินค้าปลอมออกมาตีตลาดเพราะเมื่อยอดขายของบริษัทผู้ผลิตต้นแบบลดลงฮวบฮาบโดยไม่มีสาเหตุมาก่อนและไม่สามารถแก้ไขได้ จำนวนสินค้าที่เคยผลิตมากๆก็ต้องลดลงเพื่อความอยู่รอด เมื่องานลดลง คนงานก็ต้องลดลงตามไปด้วยและสินค้าปลอมที่มีคุณภาพสูงมักจะเป็นที่นิยมของผู้ซื้อเนื่องจากมีราคาเป็นตัวดึงดูดที่สำคัญ
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อกิจการผลิตสินค้าปลอมเติบโตขึ้นมากๆผลในแง่ลบก็ตามมา ทำให้ง่ายต่อการกวาดล้าง ตรวจจับ เพราะเมื่อกิจการเติบโตขึ้นมีกำลังการผลิตมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดก็จะต้องมีโรงงานมีเครื่องจักร สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานได้อย่างดีเพราะเคลื่อนย้ายยาก
ในปี 1984 บริษัทฟอร์ดมอเตอร์ (Ford Motor) ได้ดำเนินการตอบโต้สินค้าปลอมโดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเข้ายึดทรัพย์โรงงานผลิตอะไหล่ปลอมจำนวนกว่า 1 ล้านชิ้น จากตัวแทนจำหน่ายและผู้ผลิตจำนวน 28 แห่งบริษัทฟอร์ดเรียกค่าเสียหายจากทั้ง 28 บริษัทศาลได้ตัดสินไปแล้ว 5 รายผลของการตัดสินเท่าที่ผ่านมาเป็นที่สบใจฟอร์ดทั้ง 5 ราย
ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าปลอมในสหรัฐในปี 1984 ผู้ใดผลิตสินค้าปลอมอาจมีโทษปรับ 250,000 เหรียญและจำคุก 5 ปีถ้าเป็นรูปของบริษัทจำนวนเงินค่าปรับจะสูงถึง 1 ล้านเหรียญ
บริษัทเยนเนอรัลมอเตอร์ก็ไม่ยอมน้อยหน้าเหมือนกัน ลงมือฟ้องบริษัทที่ผลิตสินค้าของยีเอ็มปลอมในซาอุดิอารเบีย 5 รายและในคูเวต 4 รายเนื่องจากพบว่าอะไหล่ของยีเอ็มในตะวันออกกลางเป็นของปลอมถึงเกือบ 40%
และในสหรัฐเองก็มีการทำสินค้าปลอมประเภทผ้าเบรคและน้ำมันเกียร์ของบริษัทยีเอ็มออกจำหน่าย
รัฐบาลของสหรัฐให้ความร่วมมือกับบริษัทเจ้าทุกข์อย่างเต็มที่ในการตรวจจับและดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทที่ผลิตสินค้าปลอม ทั้งนี้เพราะตระหนักถึงภัยอันใหญ่หลวงที่กำลังคุกคามเศรษฐกิจของประเทศตน แต่ถึงกระนั้นถ้าจะให้การตอบโต้กับผู้ผลิตสินค้าปลอมได้ผลเฉียบพลัน บริษัทต้นแบบก็ควรจะต้องติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิดโดยการจัดจ้างนักสืบเอาไว้สอดส่องเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของบริษัทโดยเฉพาะ
บริษัทเชลแนล (Chanel) แห่งปารีส ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีการพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเต็มที่เนื่องจากยอมทุ่มเงินเพื่อสอดส่องสินค้าปลอมถึงปีละ 1.2 ล้านเหรียญมีการติดตามผู้ลอกเลียนด้วยระบบคอมพิวเตอร์แกะรอยนักผลิตสินค้าปลอมในประเทศต่างๆและส่งฟ้องศาลถึงปีละ 40-60 ราย
“ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้บริษัทจะอยู่ได้ยังไงเพราะสินค้าปลอมจะมีมากกว่าสินค้าของบริษัทถึง 20 เท่าของที่มีอยู่เพราะใครๆก็ชอบใช้สินค้าของเรา” เบอร์นาร์ด เลห์แมนน์ (Bernard Lehmann) กรรมการผู้จัดการบริษัทเชลเนล (Chanel) ประกาศเจตนารมณ์อย่างเด็ดเดี่ยว
การโต้ตอบของบริษัทคาร์เทียร์เป็นที่กล่าวถึงในวงธุรกิจทั่วไปเนื่องจากเป็นการตอบโต้แบบผู้ดีคือแทนที่จะจัดการขั้นรุนแรงต่อบริษัทห้างร้านที่ขายสินค้าปลอมของคาร์เทียร์ บริษัทได้ไปตั้งร้านขายสินค้าของจริงประจันหน้ากับบริษัทของปลอมพร้อมทั้งยื่นข้อเสนอให้อีกว่าถ้าหากเลิกขายสินค้าปลอมแล้วจะตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายของคาร์เทียร์นับเป็นการโต้ตอบที่แปลกมากบริษัทหนึ่ง
ในปารีสมีการจัดตั้งสมาคมให้การคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์ในสินค้าและเครื่องหมายการค้า ชื่อสมาคม Union es Fabricants เมื่อเร็วๆนี้สมาคมต้องเผชิญปัญหาอันหนักอึ้งเนื่องจากพบว่า ที่กรุงโตเกียวมีการจำหน่ายเข็มขัดคาร์เทีย (Cartier) ในบริเวณตึกกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมซึ่งเรียกกันในชื่อย่อๆว่า MITI MITI เป็นองค์การของรัฐย่อมาจาก Ministry of Trade & Industry มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินคดีกับผู้ผลิตสินค้าปลอม จากการสืบทราบปรากฎว่าประมาณ 30% ของผู้ผลิตสินค้าปลอมมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแก๊งค์ยากูซา (Yakusa) ซึ่งเป็นพวกมาเฟียของญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้โชว์ผลงานอันเข้มแข็งโดยการกวดล้างสินค้าปลอมเป็นจำนวน 484 ราย
การจำหน่ายสินค้าปลอมในญี่ปุ่นใช้วิธีง่ายๆโดยการโชว์ของจริงแต่ขายของปลอมซึ่งถูกกว่าราคาที่เคาน์เตอร์
เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้กับนักผลิตสินค้าปลอมในประเทศที่กำลังพัฒนาสภาคองเกรส (Congress) ได้ผ่านพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งเมื่อปีที่แล้วมีชื่อว่า Tariff & Trade Act ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ใช้ในการจัดการกับบริษัทผู้ผลิตสินค้าปลอมในระดับนานาชาติ ปรากฎว่าพระราชบัญญัตินี้ทำให้ไต้หวันและประเทศอื่นๆเริ่มหันมาให้ความสนใจในการดำเนินการลงโทษนักผลิตสินค้าปลอม เมื่อปีที่แล้วอีกเช่นกันที่ไต้หวันออกกฎหมายลงโทษผู้ฝ่าฝืนสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น โดยการจำคุก 5 ปีรวมทั้งมีการทบทวนกฎหมายลิขสิทธิ์อีกด้วย ทั้งนี้เพราะไต้หวันเป็นแหล่งผลิตสินค้าปลอมที่อันตรายมาก อะไหล่รถยนต์ปลอมที่ผลิตในไต้หวันมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานมากและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อปลายปี 1970 รสบัสคันหนึ่งในแคนาดาเสียหลักพลิกคว่ำเนื่องจากใช้ผ้าเบรคที่ทำในไต้หวันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ถึง 15 คน ถ้าหากรัฐบาลไต้หวันเอาจริงแล้ว เชื่อว่าสำนักงานใหญ่ของผู้ผลิตสินค้าปลอมในไต้หวันคงจะต้องเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าแทบไม่ทัน
“ภายใน 3 ปีข้างหน้าที่ปัญหาเหล่านี้จะต้องเกิดในเมืองจีนเพราะการลอกเลียนแบบและการปลอมสินค้าในประเทศจีนดำเนินมาเป็นพันปีแล้ว” ผู้ชำนาญการด้านนี้ในฮ่องกงทำนายทายทักไว้
ปัจจุบันบริษัทบางแห่งพยายามใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเข้าช่วยในการตอบโต้กับการปลอมแปลงสินค้า เช่น บริษัท Levi Strauss & Co. ได้ทอผ้าใบชิ้นเล็กมาเข้าไปในสิ่งทอของบริษัท เมื่อทางบริษัทสงสัยว่าสินค้าที่วางขายในร้านใดจะเป็นสินค้าปลอมก็สามารถตรวจสอบได้โดยซื้อสินค้านั้นมาเป็นตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจสอบว่าเป็นของแท้หรือของปลอม
เครื่องมือตรวจสอบสินค้านี้ ผลิตโดยบริษัท Light Signatures Inc. ในเมืองลอสแองเจลีส บริษัทต่อต้านการผลิตสินค้าปลอมเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่ถึง 5 ปีมานี้เอง ปัจจุบันมีบริษัทเช่นว่านี้ประมาณ 12 บริษัทและคาดว่าบริษัทที่ได้รับผลกระทบอย่างจังต่อการผลิตสินค้าปลอมจะต้องยอมทุ่มทุนเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วยระบบไฮ-เท็ค (High-Tech) เป็นเงินประมาณ 50 ล้านเหรียญ
แต่…ไม่ว่าบริษัทต่างๆจะทำงานกันอย่างหนักหน่วงเพียงไหน สินค้าปลอมซึ่งเป็นอาชีพเก่าแก่อันดับสองของโลกก็จะไม่มีวันหายไปจากโลกนี้
มีเรื่องจริงเล่ากันว่า ในสำนักงานของสมาคมคุ้มครองเครื่องหมายการค้า (Union des Fabricants) ในปารีสมีเหยือกใส่เหล้าองุ่นที่สวยงามมากใบหนึ่งตั้งโชว์อยู่
เชื่อไหมว่ามันเป็นของปลอมที่ทำขึ้นตั้งแต่สมัยระหว่างศตวรรษที่ 1!
ที่มา : นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2529)